วันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

นกกรงหัวจุก



“นกกรงหัวจุก" เป็นชื่อการค้าหรือภาษาที่ใช้ทั่วไป หรือ " นกปรอดหัวโขนและนกปรอดหัวโขนเคราแดง” มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Red-whiskered Bulbul และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pycnonotus jocosus (Linnaceus) ในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อย โดยชนิดย่อย Pycnonotus jocosus pattani พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันตก และชนิดย่อย Pycnonotus jocosus emeria พบเฉพาะภาคตะวันตก อาหารตามธรรมชาติ ได้แก่ ผลไม้ ตัวหนอนและแมลง สำหรับผลไม้ขนาดเล็ก เช่น ไทร หว้า และตะขบ เป็นต้น นกจะใช้ปากเด็ดผลไม้ออกจากขั้วและกลืนทั้งผล หากเป็นผลไม้ขนาดใหญ่กว่าจะกลืนได้ เช่น ชมพู่ กล้วย มะละกอ หรือมะม่วง นกจะใช้ปากจิกผลไม้สุกในส่วนที่ติดกับขั้วทีละชิ้นๆ
การผสมพันธุ์ ในธรรมชาตินั้นนกชนิดนี้มีฤดูผสมพันธุ์ช่วงระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม แต่ในกรงเลี้ยงอาจผสมพันธุ์ทั้งปีก็เป็นได้ รังเป็นรูปถ้วยเล็ก ๆ ประกอบด้วยกิ่งไม้ขนาดเล็ก ใบไม้แห้ง ต้นหญ้าและใบหญ้า อาจจะเชื่อมวัสดุให้ติดกันด้วยใยแมงมุม ปรกตินกจะวางไข่ 2- 4 ฟอง และใช้เวลากกไข่ประมาณ 12 - 14 วัน โรคหรือความผิดปรกติที่พบได้บ่อย โรคภัยไข้เจ็บของนกกรงหัวจุกนี้มีไม่มาก เพราะเป็นนกพื้นเมืองของประเทศไทยอยู่แล้ว จึงมีความทนทานมากพอควร ที่พบบ่อย ๆ เป็นโรคหวัดเรื้อรัง ฉะนั้นเมื่อพบว่านกเริ่มซึม ไม่ร้องเสียงใสเช่นเคย จามหรือไอบ่อย ๆ กินอาหารลดลงหรือไม่กิน ต้องรีบพาไปหาสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านรักษานก
ปัญหาความผิดปรกติที่พบบ่อยรองลงมา เป็นท้องเสียจากการให้อาหารที่ไม่สะอาด เช่น ไข่มดแดงและหนอนนก หรือผลไม้ที่ให้นั้นบูดเน่า พบว่านกจะอุจจาระเหลวสีเหลืองหรือสีดำ เหม็นคาวและถ่ายบ่อยครั้ง อุจจาระเหนียวติดก้น นกจะหมดแรงจนเกาะคอนไม่ไหว จะลงมานอนกับพื้นกรง ถ้าพบเช่นนี้รีบไปหาสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะนกจะเสียชีวิตง่ายมากเมื่อขาดน้ำเพราะถ่ายท้องเสียมากเกินไป หรือถ้าปฐมพยาบาลเบื้องต้นไปก่อน ก็ต้องป้อนน้ำเกลือแร่ให้บ่อยๆ และให้ความอบอุ่น และต้องเปลี่ยนอาหารใหม่ที่สะอาด ๆ จากนั้นค่อย ๆ ป้อนน้ำเกลือแร่บวกกับผลไม้บดให้กินทีละน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ สักหนึ่งถึงสองวัน จนนกเริ่มมีแรงมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น